การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย (EP.02) วิทยุดิจิตอล คืออะไร (What is DAB?)

การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย (EP.02) วิทยุดิจิตอล คืออะไร (What is DAB?)

        ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมีการทดลองการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงแบบดิจิตอล ที่เรียกว่า DAB หรือ DAB+ บทความนี้เราจะทำความรู้จักกับ “วิทยุดิจิตอล”

วิทยุดิจิตอล คืออะไร (What is DAB?)
        วิทยุดิจิตอล มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Digital Audio Broadcasting” หมายถึง “การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงแบบดิจิตอล” นั่นเอง ปัจจุบันวิทยุดิจิตอลมีการส่งรออกอากาศ 2 ระบบ คือ ระบบ DAB ระบบ DAB+ การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงแบบดิจิตอลผ่านเสาอากาศ เพื่อเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ เพื่อการบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อความคมชัดและมีมิติในการรับฟังรายการวิทยุ โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 1995 ประเทศนอร์เวย์ เป็นประเทศแรกที่ส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล ในปัจจุบันในหลายประเทศได้ส่งกระจายเสียงเป็นวิทยุดิจิตอลแล้ว วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยยังคงเป็นวิทยุแบบอนาล็อก อย่างไรก็ตามวิทยุระบบดิจิตอลเริ่มมีการทดสอบในประเทศไทยแล้ว โดย กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ แต่ยังไม่ถูกนำมาส่งกระจายเสียงจริง ตามตามแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิทยุดิจิตอลน่าจะมีการส่งออกอากาศจริงในอนาคต เป็นการส่งกระจายเสียงแบบ DAB+ โดยส่งกระจายเสียงแบบ T-DAB (T-DAB: Terrestrial Digital Audio Broadcasting คือ การส่งวิทยุภาคพื้นดินผ่านเสาอากาศ) ในย่านความถี่ VHF รูปแบบโครงข่าย 1 ความถี่ (SFN: Single Frequency Network)

ความแตกต่างระหว่างวิทยุดิจิตอล แบบ DAB และ DAB+
1. การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงดิจิตอลแบบ DAB เป็นการส่งวิทยุดิจิตอลโดยใช้การเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ MPEG-2 Layer II (MPEG-2 Layer II คือมาตรฐานการบีบอัดภาพและเสียงที่กำหนดโดย ISO / IEC)
2. การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงดิจิตอลแบบ DAB+ เป็นการส่งวิทยุดิจิตอลโดยใช้การเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4 HE-AACv2 มาตรฐานใหม่นี้สามารถบีบอัดเสียงให้มีขนาดเล็กลงและมีคุณภาพเสียงดีกว่า และสามารถส่งข้อความและรูปภาพได้  (MPEG-4 HE-AACv2  คือ มาตรฐานการบีบอัดและการเข้ารหัส ภาพและเสียง ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า MPEG-2)

        การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงแบบอนาล็อก ประสบปัญหา คือ ประชาชนไม่สามารถรับฟังเสียงได้ชัดเจน เกิดปัญหาการรบกวนสัญญาณ การบริหารจัดการคลื่นความถี่ไม่ได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ. เอ็ม. มีผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงมากกว่า 5,000 ราย ประสบปัญหาการใช้งานคลื่นความถี่ ทำให้พื้นที่รอยต่อข้างเคียงมีสัญญาณรบกวนกันเอง
        การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงแบบดิจิตอล เป็นการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุให้มีประสิทธิภาพ สามารถรับฟังเสียงชัดเจนคุณภาพดีกว่าเดิม ลดปัญหาการสัญญาณรบกวน และสามารถขยายพื้นที่ในการรับสัญญาณให้ครอบคลุมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และรองรับทั้งการส่งกระจายเสียงซึ่งเป็นบริการหลักและการส่งข้อมูล เช่น ข้อความ รูปภาพ สามารถนำไปประยุกต์ให้บริการในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกด้วย

ทำไมต้องส่งออกอากาศวิทยุดิจิตอล Why DAB?
เหตุผลที่ต้องส่งออกอากาศวิทยุดิจิตอลสรุปได้ ดังนี้
 วิทยุดิจิตอลสามารถส่งได้หลายรายการในคลื่นความถี่เดียวกันทำให้สามารถบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
 วิทยุดิจิตอลเป็นการนำสัญญาณเสียงมาแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอลก่อนส่งออกอากาศ ทำให้ได้คุณภาพเสียงคมชัดมีมิติมากขึ้น
 วิทยุดิจิตอลทนทานต่อสัญญาณรบกวนได้ดีกว่า และสามารถรับสัญญาณต่ำๆ ได้ดีกว่า
 วิทยุดิจิตอลสามารถแจ้งแสดงชื่อรายการ ชื่อเพลง ชื่อดีเจ หรือข้อความต่างๆ บนหน้าจอวิทยุได้
 วิทยุดิจิตอลสามารถส่งรูปข้อมูลข่าวสารเป็นรูปภาพได้
 สามารถนำวิทยุดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ในงานเตือนภัยพิบัติ งานแสดงผลการจราจร การแสดงภาพประชาสัมพันธ์ได้

เครื่องรับวิทยุดิจิตอล
        วิทยุ FM AM เครื่องเก่า ไม่สามารถใช้รับวิทยุดิจิตอล DAB หรือ DAB+ หากต้องการรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียงแบบดิจิตอลจำเป็นต้องหาเครื่องรับวิทยุดิจิตอลเครื่องใหม่ และจำเป็นต้องตรวจสอบด้วยว่าการส่งวิทยุดิจิตอลเป็นระบบใด หากส่งแบบ DAB ก็ต้องใช้เครื่องรับ DAB หากส่งแบบ DAB+ ก็ต้องใช้เครื่องรับ DAB+
 

       ปัจจุบันมีเครื่องรับวิทยุดิจิตอล DAB และ DAB+ ถูกออกแบบมามากมายหลายรูปแบบทั้งเครื่องรับแบบตั้งโต๊ะปกติ แบบพกพา แบบติดตั้งในรถยนต์ แบบเสียบผ่านพอร์ต USB รวมทั้งอยู่ในเครื่องเสียงโฮมเธียร์เตอร์ในตัว

องค์กรที่กำกับดูแลวิทยุดิจิตอล
        ระดับนานาชาติองค์กรที่กำกับดูแลวิทยุดิจิตอล คือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในประเทศไทยองค์กรที่กำกับดูแลวิทยุดิจิตอล คือ สำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NBTC)  วิทยุดิจิตอลในประเทศไทยเกิดขึ้นภายใต้โครงการ NBTC/ITU Project on the Development of a Framework for Digital Radio Services in Thailand เพื่อศึกษาแนวทางกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิตอลในประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุในระบบวิทยุกระจายเสียงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ตามแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2559 – 2563) โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียงภาคพื้นดินระบบดิจิตอลได้ครอบคลุมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการต่อจากการส่งออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลก่อนหน้านี้ การส่งออกอากาศวิทยุดิจิตอล (DAB, DAB+) ใช้วิธีการมอดูเลตสัญญาณภาพและเสียงให้เป็นสัญญาณดิจิตอลแบบ COFDM (Coded Orthogonal Frequency Division Multiplexing) 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้