วิทยุดิจิตอล DAB [EP.01] การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยก่อนจะไปเป็นวิทยุแบบดิจิตอล

วิทยุดิจิตอล DAB   [EP.01] การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยก่อนจะไปเป็นวิทยุแบบดิจิตอล

        วันนี้ยังมีการส่งออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย เป็นแบบอนาล็อก 3 คลื่นความถี่ ประกอบไปด้วย วิทยุ FM วิทยุ AM วิทยุ SW ในประเทศไทย ก่อนที่จะมีระบบ วิทยุแบบดิจิตอล ที่เรียกว่า DAB หรือ DAB+ เรามาดูว่า การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

        การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นระยะแรก ราวปี พ.ศ. 2470-2472 ในสมัยรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันมีการส่งออกอากาศ 2 ระบบ 3 คลื่นความถี่ คือ
1. การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอเอ็ม (AM) เป็นการออกอากาศวิทยุแบบอนาล็อก โดยนำสัญญาณ
เสียง (AF: Audio Frequency) มาผสมคลื่นวิทยุความถี่สูง (RF: Radio Frequency) ที่ทำให้ระดับความสูงของคลื่นวิทยุความถี่สูง เปลี่ยนแปลงไปตามสัญญาณคลื่นเสียง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงความถี่ของคลื่นวิทยุความถี่สูง เราจึงเรียกการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงนี้ว่า “การผสมทางความสูงของคลื่น หรือ Amplitude Modulation และมีอักษรย่อว่า AM
การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอเอ็ม (AM) ในประเทศไทย มีส่งทั้งหมด 2 ย่านความถี่ คือ
         1.1  การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอเอ็ม (AM) โดยใช้ความถี่ MW (Medium Wave) ในย่านความถี่ MF (Medium Frequency) ช่วงความถี่ 535-1605 KHz ในการส่งออกอากาศวิทยุกระจายเสียง ส่งเป็นแบบอนาล็อก จำนวนกว่า 212 สถานี กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยทั่วไปส่งได้ไกลประมาณ 200 กิโลเมตร ระบบนี้ให้คุณภาพของเสียงไม่ดีนัก เกิดสัญญาณรบกวนได้ง่าย สภาพดินฟ้าอากาศมีผลต่อความคมชัดและคุณภาพของเสียง

        1.2  การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอเอ็ม (AM) โดยใช้ความถี่ SW (Shot Wave) ในย่านความถี่ HF (High Frequency) ช่วงความถี่ 3-30MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่สามารถสะท้อนชั้นบรรยากาศและพื้นโลกได้ ทำให้ส่งไปได้ไกลนับพันกิโลเมตร ทำให้สามารถส่งกระจายเสียงข้ามทวีปได้ ในการส่งออกอากาศวิทยุกระจายเสียง ส่งเป็นแบบอนาล็อก ระบบนี้ให้คุณภาพของเสียงไม่ดี มีสัญญาณรบกวนค่อนข้างสูง สภาพดินฟ้าอากาศมีผลต่อความคมชัดและคุณภาพของเสียง เช่น
           สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (Radio Thailand) 11.965 MHz และ 9.0655 MHz
           สถานี BBC ความถี่ที่รับได้ในประเทศไทย 11.910 MHz
           สถานีวิทยุเสียงอเมริกา หรือ (Voice of America) ความถี่ 11.780 MHz
           สถานีวิทยุของออสเตเลีย (Radio Australia) ความถี่ 15.40 MHz
           Radio Japan ความถี่ 15.235 MHz 

2. การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม (FM) เป็นการออกอากาศวิทยุแบบอนาล็อก โดยนำสัญญาณเสียง (AF: Audio Frequency) มาผสมคลื่นวิทยุความถี่สูง (RF: Radio Frequency) โดยมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ของคลื่นวิทยุความถี่สูง ตามสัญญาณคลื่นเสียง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงของคลื่นวิทยุความถี่สูง เราจึงเรียกการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงนี้ว่า “การผสมคลื่นทางความถี่” หรือ Frequency Modulation และมีอักษรย่อว่า FM
        การออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม (FM) อยู่ในย่านความถี่ย่าน VHF (Very High Frequency) ช่วงความถี่ 88-108MHz  ในการส่งออกอากาศวิทยุกระจายเสียง ส่งเป็นแบบอนาล็อก ระบบนี้ให้คุณภาพเสียงคมชัด (แบบอนาล็อก) เกิดสัญญาณรบกวนได้ยากกว่าระบบ AM สภาพดินฟ้าอากาศมีผลต่อความคมชัดและคุณภาพของเสียงบ้าง ส่งได้ในระยะประมาณไม่เกินประมาณ 150 กิโลเมตร นิยมส่งใน “ระบบเสียงสเตอริโอ” ที่เรียกว่า “FM Stereo Multiplex” ทำให้การรับฟังมีมิติมากขึ้น เนื่องจากสามารถแยกสัญญาณออกเป็น ลำโพงด้านซ้าย (L) ลำโพงด้านขวา (R)ได้


        ปัจจุบันการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม (FM) มีการส่งกระจายเสียงหนาแน่นอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยผู้ส่งใช้อุปกรณ์เครื่องส่งไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดการรบกวนกันเองระหว่างสถานีที่อยู่ใกล้เคียงกัน รวมถึงรบกวนระบบสื่อสารอื่นๆ และมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ทำให้สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องออกกฎระเบียบกำหนดมาตรฐานเครื่องส่ง กำหนดแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงในระบบ FM ในพื้นที่ต่างๆ  ออกใบอนุญาต และควบคุมการใช้คลื่นความถี่ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการรบกวนกันเองและระบบสื่อสารอื่นๆ
        ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมีการทดลองการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงแบบดิจิตอล ที่เรียกว่า DAB หรือ DAB+ เราจะทำความรู้จักกับ “วิทยุดิจิตอล” ในบทความต่อไปครับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้