โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย
รุ่งเรือง หวนระลึก March 18th 2020
วันสิ้นสุดการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก
การออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินก่อนหน้านี้ส่งสัญญาณเป็นระบบแอนะล็อก (Analog Terrestrial Television Broadcasting) จำนวน 6 ช่องรายการ ประกอบไปด้วย (1) ไทยทีวีสีช่อง3, (2) ททบ.5, (3) สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง7, (4) โมเดิร์นไนน์ทีวี, (5) ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์, (6) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
การรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก สามารถตั้งเสาอากาศต่อสายเคเบิลไปยังเครื่องรับโทรทัศน์และจูนเพื่อรับชมรายการโทรทัศน์ หากจุดรับชมอยู่ใกล้สถานีส่งสามารถใช้เสาอากาศหนวดกุ้งต่อรับชมได้เลย หากจุดรับชมอยู่ไกลสถานีส่งต้องใช้เสาอากาศแบบก้างปลา (Yagi Antenna) ในการต่อเพื่อรับสัญญาณ จำนวนก้านปีก (Element) จำนวนมากจะรับสัญญาณได้ดีกว่าจำนวนก้านปีกที่น้อยกว่า เครื่องรับโทรทัศน์ในปัจจุบันสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อกได้ทุกรุ่น
การออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก ช่วงคลื่นความถี่ (7-8MHz) สามารถส่งช่องรายการทีวีได้เพียง 1 ช่องรายการ การรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก แต่ละพื้นที่จะรับชมความคมชัดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการรับชมและระดับความแรงของสัญญาณ
เพื่อให้การบริหารจัดการความถี่ได้ประโยชน์สูงสุดและความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นระบบดิจิตอล ทำให้การออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก มีแผนยุติการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 และสิ้นสุดในวันที่ 25 มีนาคม 2563
การออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย
ปัจจุบันเทคโนโลยีการส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลถูกนำมาแทนที่ระบบแอนะล็อกในหลายประเทศเนื่องจากให้ความคมชัดสูงเท่ากับแหล่งกำเนิดสัญญาณ ช่วงคลื่นความถี่ (7-8MHz) ส่งช่องรายการได้มากกว่า 8 ช่องรายการ ทำให้สามารถบริหารจัดการคลื่นความถี่ได้มีประสิทธิภาพสูง วันที่ 1 เมษายน 2557 เป็นวันที่มีการส่งออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทยวันแรก
การออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทยส่งออกอากาศในระบบ DVB-T2 มีการจัดเรียงช่องอัตโนมัติ ตามคำสั่งของ กสทช. เพื่อให้ผู้รับชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลสามารถจดจำได้ง่าย ระบบ DVB-T2 ได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบการออกอากาศที่มาตรฐานและประสิทธิภาพสูงสุด
การออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล มีแผนการส่งออกอากาศทั้งสิ้นจำนวน 6 ความถี่ 48 ช่องรายการ ในปัจจุบันมีการแพร่ภาพออกอากาศจำนวน 5 ความถี่ 20 ช่องรายการ
วิธีการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย
การรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย หากอยู่ใกล้สถานีส่งเราสามารถตั้ง เสาอากาศทีวีดิจิทัลแบบหนวดกุ้ง) ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลเพื่อรับชม หากอยู่ไกลสถานีส่งต้องตั้ง เสาอากาศทีวีดิจิทัลแบบก้างปลา (Digital TV Yagi Antenna) ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลเพื่อรับชม
แต่ในปัจจุบันมีการนำความถี่ย่าน UHF บางส่วนไปใช้ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G ความถี่ 800 MHz และ 5G ความถี่ 700MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่เดียวกับโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล หากประสบปัญหาสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ถูกรบกวนด้วย สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาจจำเป็นต้องใช้ เสาอากาศทีวีดิจิทัลที่มีวงจรกรองความถี่ 4G/LTE และ 5G (Digital TV Antenna with LTE4G/5G Filter) ในการรับสัญญาณ เพื่อตัดสัญญาณรบกวนต่างๆ ออกไป
วิธีตรวจสอบพื้นที่จุดรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย
เราสามารถตรวจสอบพื้นที่ระยะทางระหว่าง จุดรับชมของเรา กับ เสาส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล เพื่อประกอบในการพิจารณาการเลือกใช้เสาอากาศทีวีดิจิทัล การหันทิศทางเสาอากาศ และ ความถี่ในการรับสัญญาณได้ 3 ช่องทาง ได้แก่
a) ระบบปฏิบัติการ Windows เข้าไปโหลดได้ที่เวปไซต์
https://dtvservicearea.nbtc.go.th/webpeople/
b) ระบบปฏิบัติการ iOS เข้าไปโหลดได้ที่ App Store ชื่อแอปพลิเคชั่น DTV Service Area หรือที่เวปไซต์
https://apps.apple.com/jp/app/dtv-service-area/id906264193?l=en
c) ระบบปฏิบัติการ Android เข้าไปโหลดได้ที่ Google Play ชื่อแอปพลิเคชั่น DTV Service Area หรือที่เวปไซต์
https://play.google.com/store/apps/details?id=esrith.nbtc.BRDC&hl=en
วิธีดูว่าเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลหรือไม่
วิธีสังเกตว่าเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือเครื่องรับโทรทัศน์ที่ใช้รับรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทยได้ ให้สังเกตุดูที่ด้านหลังโทรทัศน์จะต้องมีสติกเกอร์ตราครุฑที่ออกให้โดย กสทช. (Halogram กสทช. Class A Broadcast) ติดอยู่ด้านหลังจอเครื่องรับโทรทัศน์จึงจะสามารถนำมาใช้รับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทยได้โดยตรง
หากเป็นเครื่องรับโทรทัศน์รุ่นเก่าจะรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทยได้อย่างไร
หากเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกรุ่นเก่าจอตู้ CRT LCD LED Plasma TV รวมถึง Smart TV และ 3D TV ที่ยังไม่เป็น โทรทัศน์ระบบดิจิทัล (Digital TV) จะต้องใช้กล่องรับสัญญาณระบบดิจิตอลทีวี (DVB-T2 Set-Top-Box) ที่มีสติกเกอร์ตราครุฑที่ออกโดย กสทช. (Halogram กสทช. Class A Broadcast) ติดอยู่ที่ตัวกล่อง ต่อระหว่าง เสาอากาศ กับ เครื่องรับโทรทัศน์ จึงจะสามารถรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องซื้อเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องใหม่ทดแทนเครื่องเดิมแต่อย่างใด ราคาประมาณ 690 บาท
จะเรียกว่า ทีวีดิจิตอล ทีวีดิจิทัล ดิจิตอลทีวี ดิจิทัลทีวี เรียกอะไรดี
โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ใช้ชื่อที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประกาศอยู่ในกฎหมาย คือ คำว่า "ทีวีดิจิตอล"
โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถเขียน หรือเรียกได้ทั้ง ทีวีดิจิตอล ทีวีดิจิทัล ดิจิตอลทีวี ดิจิทัลทีวี เช่น เครื่องส่งระบบทีวีดิจิตอล เสาส่งระบบดิจิตอลทีวี กล่องรับสัญญาณดิจิทัลทีวี เสาอากาศทีวีดิจิทัล
การช่องรายการทีวีดิจิทัล 20 ช่อง มีอะไรบ้าง ระดับความคมชัดทีวีดิจิทัลเป็นอย่างไร
ช่อง 1 ททบ.5 (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 2 NBT2 กรมประชาสัมพันธ์ (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 3 Thai PBS (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 10 TPTV ข่าวรัฐสภา (ความคมชัด SD)
ช่อง 11 NBT ภูมิภาค กรมประชาสัมพันธ์ (ความคมชัด SD)
ช่อง 16 TNN 24 ของเครือทรู (ความคมชัด SD)
ช่อง 18 New) TV ในเครือเดลินิวส์ (ความคมชัด SD)
ช่อง 22 Nation TV (ความคมชัด SD)
ช่อง 23 Workpoint (ความคมชัด SD)
ช่อง 24 True4U (ความคมชัด SD)
ช่อง 25 GMM25 (ความคมชัด SD)
ช่อง 27 ช่อง 8 RS (ความคมชัด SD)
ช่อง 29 Mono29 (ความคมชัด SD)
ช่อง 30 MCOT (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 31 ONE (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 32 ไทยรัฐทีวี (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 33 ช่อง 3HD (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 34 อมรินทร์ทีวี (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 35 ช่อง 7HD (ความคมชัด Full HD)
ช่อง 36 PPTV (ความคมชัด Full HD)
(อัพเดท March 18th 2020)
แหล่งอ้างอิง:
https://th.wikipedia.org/wiki/โทรทัศน์ในประเทศไทย
https://th.wikipedia.org/wiki/โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย
https://nbtc.go.th/News/Information/แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็.aspx
https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง_3
https://dtvservicearea.nbtc.go.th/webpeople/
https://www.thairath.co.th/news/tech/546344